คลังเก็บหมวดหมู่: LAW : กฎหมายน่ารู้

accounting_low4

หลักประกันตัวในคดีอาญา

accounting_low4เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้นอันเริ่มต้นตั้งแต่ชั้นตำรวจไปจนถึงศาลนั้น กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และระเบียบ ของหน่วยงานต่างๆเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
ในระหว่างการพิจารณาได้ โดยมิต้องถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีและมีสิทธิ์ร้องขอได้ ในทุกระดับชั้น ของกระบวนยุติธรรมผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว คือ ผู้ต้องหา จำเลย
หรือ ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น ญาติพี่น้อง คู่สมรส เป็นต้น

ผู้พิจารณาคำร้องขอดังกล่าว คือ

1. กรณีผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนหรืออัยการ เช่น ยังอยู่ในการสอบสวนของตำรวจ ต้องยื่นแก่พนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบในคดีและจะมีระเบียบของหน่วยงานกำหนดขอบอำนาจ
หน้าที่ ของนายตำรวจในการใช้ดุลพินิจไว้หากมีการส่งสำนวนการสอบสวนไปยังพนักงานอัยการ
อำนาจพิจารณาจักอยู่ที่พนักงานอัยการซึ่งดูแลคดีดังกล่าว

2. กรณีผู้ต้องหาถูกฟ้องต่อศาลแล้ว ต้องยื่นที่ศาลชั้นต้นซึ่งพิจารณาคดีนั้นระยะเวลาในการปล่อยชั่วคราว สำหรับกรณีในชั้นตำรวจหรืออัยการ มีผลใช้ได้ระหว่างการสอบสวน หรือจนกว่าผู้ต้องหาถูกศาลสั่งขังระหว่างสอบสวน หรือ จนถึงศาลประทับฟ้อง แต่มิให้เกิน 3 เดือนนับแต่วันแรกที่มีการปล่อยชั่วคราว แต่อาจยืดเวลาได้เกินกว่านั้น แต่มิให้เกิน 6 เดือน ในกรณีมีเหตุจำเป็นที่การสอบสวนไม่อาจเสร็จภายในกำหนด 3 เดือนได้ ซึ่งเป็นอำนาจเฉพาะทั้งของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการส่วนกรณีอยู่ในอำนาจของศาล จักเป็นไปตามหลักกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญากำหนดไว้

จำนวนวงเงินประกันในแต่ละหน่วยงานโดยสังเขปดังนี้
1. กรณีของตำรวจหรือพนักงานอัยการ จะมีระเบียบภายในกำหนดรายละเอียดลักษณะคดี หลักประกันที่พึงใช้ วงเงินแต่ละประเภทคดีไว้ เพื่อใช้ประกอบดุลพินิจของเจ้าหน้าที่
2. กรณีของศาลซึ่งมีข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยกาารปล่อยชั่วคราวในคดีอาญา พ.ศ. 2548 กำหนดแบ่งประเภทคดีหรือวงเงินประกัน ดังตัวอย่าง เช่น

ความผิดลหุโทษหรือมีโทษปรับสถานเดียว ให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกัน หากมีเหตุจำเป็นต้องมีประกันก็ให้กำหนดวงเงินไม่เกินกึ่งหนึ่งของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น

คดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี อาจปล่อยตัวโดยไม่ต้องมีประกันก็ได้ หากมีเหตุจำเป็นต้องมีประกันให้กำหนดวงเงินไม่เกิน 100000 บาท เว้นแต่มีเหตุสมควรสั่งเป็นอย่างอื่น ก็ต้องระบุเหตุนั้นให้ชัดเจน

คดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 5 ปี อาจปล่อยชั่วคราวโดยต้องมีประกัน แต่ไม่ต้องมีหลักประกันก็ได้ ส่วนวงเงินประกันต้องไม่สูงเกินควรแก่กรณี
กรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 3 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ก็ตาม ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาได้โดยมีประกันและหลักประกัน แต่วงเงินประกันไม่ควรสูงเกินกว่า 100,000 บาท

กรณีที่ถูกลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 3 ปี และศาลเห็นสมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ฎีกาได้โดยมีประกันและหลักประกัน หากศาลเห็นสมควรกำหนดวงเงินประกันให้สูงขึ้นจากที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์กำหนดไว้ ก็ให้กำหนดวงเงินประกันเพิ่มขึ้นได้ แต่ไม่ควรเพิ่มเกินกึ่งหนึ่ง
หากผู้ขอประกันเป็นญาติพี่น้องหรือมีความเกี่ยวพันโดยทางสมรสใช้เงินสด หลักทรัพย์มีค่าที่มีมูลค่าแน่นอนและสะดวกแก่การบังคับคดีเป็นหลักประกัน ศาลจะอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้ผู้ขอประกันวางเงินสดหรือหลักทรัพย์นั้นเพียงจำนวนร้อยละ 20 จากจำนวนวงเงินประกันที่ศาลกำหนดก็ได้ ส่วนกรณีความผิดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำด้วยความจำใจหรือด้วยความยากจน ศาลจะกำหนดวงเงินให้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติก็ได้

กรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นหญิงมีครรภ์หรือมีบุตรอายุไม่เกิน 3 ปีอยู่ในความดูแลหรือเป็นผู้เจ็บป่วยซึ่งถ้าต้องขังจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือเป็นผู้พิการหรือสูงอายุ ซึ่งโดยสภาพร่างกายหรือจิตใจอาจเกิดความทุกข์ยากลำบากเกินกว่าปกติในระหว่างต้องขัง ให้ศาลใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีหลักประกันหรือกำหนดวงเงินประกันให้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ

กรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นเด็กหรือเยาวชน ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนใช้ดุลพินิจกำหนดวงเงินประกันตามที่ศาลเห็นสมควร แต่ต้องไม่สูงกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

ประเภทของหลักประกันซึ่งนำไปใช้ได้ทั้งที่ศาลหรือตำรวจหรืออัยการ ได้แก่

1. โฉนดที่ดิน หนังสือรับรองการทำประโยชน์ หนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด และหนังสือรับรองราคาประเมินของสำนักงานที่ดิน และต้องไม่มีภาระผูกพันอันกระทบต่อการบังคับคดีด้วย

2. หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่น เช่น พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน ใบรับฝากประจำของธนาคาร เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรองซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ในวันทำสัญญาประกัน
เมื่อทำสัญญาประกันแล้ว ศาลจะมีหนังสือแจ้งอายัดไปยังสำนักงานที่ดินหรือธนาคารโดยทันที และเมื่อสัญญาประกันสิ้นสุดต้องรีบแจ้งยกเลิกอายัดโดยเร็วเช่นกัน

3. การใช้บุคคลเป็นประกัน ซึ่งต้องมีลักษณะโดยสังเขปดังนี้

3.1 เป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน เช่น ข้าราชการ ทนายความ เป็นต้น
3.2 ต้องเป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือจำเลย เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง เป็นต้น
กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นพนักงานหรือผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะ เช่น แพทย์ เภสัชกร วิศวกร สถาปนิก ทนายความ ผู้สอบบัญชี ครู สื่อมวลชน เป็นต้น และถูกกล่าวว่ากระทำความผิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือการปฏิบัติงานในการประกอบวิชาชีพนั้น ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยทำสัญญาประกันตนเองได้ในวงเงินไม่เกิน 15 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน

กรณีศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว อาจเลือกทำข้อใดข้อหนึ่งได้คือ

1. ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ หากมีคำสั่งยืนตามศาลชั้นต้นไม่อนุญาตเช่นเดียวกัน คำสั่งศาลอุทธรณ์จักถือเป็นที่สุด มิอาจยื่นฎีกาต่อศาลสูงสุดได้ แต่กฎหมายไม่ตัดสิทธิในการยื่นคำร้องใหม่

2. ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวใหม่

กรณีผิดสัญญาประกัน

1. ชั้นตำรวจหรือพนักงานอัยการ มีสิทธิริบเงินประกันตามสัญญาได้ทันที โดยมีระเบียบปฏิบัติของหน่วยงานกำหนดขั้นตอนไว้

2. ชั้นศาล สั่งบังคับตามสัญญาประกัน โดยมิต้องฟ้องอีกครั้ง แต่ให้อำนาจอุทธรณ์ได้ โดยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด
ข้อมูลเบื้องต้นดังกล่าวเป็นการบอกเล่าให้เข้าใจอย่างง่ายๆ และขอย้ำว่าการสั่งปล่อยชั่วคราวในแต่ละคดีนั้น กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องปล่อยทุกกรณี แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้มีอำนาจจะเห็นสมควร

?????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????

หลักการทำสัญญา

?????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????????ท่านผู้อ่านที่เคารพ มนุษย์เราไม่สามารถที่จะอยู่คนเดียวในโลก จำเป็นต้องติดต่อกับผู้อื่นอยู่สมอ

การทำสัญญานั้น มีหลายประการด้วยกันคือ

หนึ่ง วัตถุประสงค์ของสัญญาว่า ต้องการทำอะไร ควรระบุให้ชัดเจน

สอง ชื่อที่อยู่ของคู่สัญญา เพื่อประโยชน์ในการติดตามบังคับให้ปฎิบัติตามสัญญา

สาม ความสามารถของคู่สัญญา หากเป็นผู้เยาว์ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรม คือ บิดา มารดาของผู้เยาว์ให้ความยินยอมก่อน เป็นต้น

สี่ ถูกต้องตามแบบหรือไม่ เช่นซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ คือ ที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน กู้เงินต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เป็นต้น

ห้า ความยินยอมของคู่สมรส หากเป็นการทำสัญญาเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เช่น ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้ ขายฝาก เช่าซื้อ จำนอง ก่อให้เกิดภารจำยอม สิทธิเก็บกิน หรือนำเงินสินสมรสไปให้กู้ ต้องให้คู่สมรสของคู่สัญญาให้ความยินยอมด้วย มิฉะนั้น คู่สมรสอาจฟ้องเพิกถอนสัญญาในภายหลังได้

หก ค่าเสียหาย หรือเบี้ยปรับ เมื่อมีการผิดสัญญา ควรระบุให้ชัดเจน

เจ็ด ค่าธรรมเนียม ภาษี ฝ่ายใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ หรือให้รับผิดชอบร่วมกัน

แปด ลายมือชื่อคู่สัญญา หากพิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือต้องมีพยานรับรอง 2 คน จึงจะบังคับได้

เก้า พยานที่รู้เห็นการทำสัญญา แม้กฎหมายจะไม่บังคับให้ต้องมีพยาน แต่ก็ควรมีพยานไว้ เพื่อเบิกความยืนยันการทำสัญญาเมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้น

ข้อควรระวังในการทำสัญญามีดังนี้

หนึ่ง ควรมีหลักฐาน แม้กฎหมายจะให้ทำได้ด้วยวาจา ก็ควรทำเป็นหนังสือเนื่องจากชัดเจน แน่นอนโต้แย้งได้ยาก

สอง อย่าไว้วางใจ คืออย่าเชื่อใจว่าเขาจะไม่โกง เพราะหากเขาโกงเราจะแก้ไม่ทัน ท่านอย่าเซ็นชื่อในกระดาษเปล่าหรือแบบพิมพ์ที่มิได้กรอกข้อความ ทุกครั้งที่มีการชำระหนี้การขอใบเสร็จหรือหลักฐานการรับชำระหนี้ หรือขอหลักฐานแห่งหนี้คืนมา หรือขีดฆ่าทำลายหลักฐานแห่งหนี้เสีย

สาม อย่าเห็นแก่ได้ ประโยชน์ที่มากผิดปกติ ทรัพย์ที่ราคาต่ำผิดปกติ ผู้ที่ทำสัญญามาน่าจะมีทรัพย์เช่นนั้น หรือทำในเวลาผิดปกติ เช่น กลางคืน หรือในวันหยุด ท่านอาจมีความผิดฐานรับของโจร

สี่ ข้อความในสัญญาควรระบุให้ชัดเจน ไม่ใช้คำที่คลุมเครือหรือแปลได้หลายนัย

ห้า ควรมีคู่ฉบับ เพื่อตรวจสอบความถูกต้องตรงกัน ป้องกันมิให้ฝ่ายใดแก้ไขสัญญาเพียงฝ่ายเดียว

หก การเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาภายหลัง อย่าตกลงด้วยวาจา ควรให้คู่สัญญาบันทึกไว้เป็นหลักฐานทุกครั้ง มิฉะนั้น อีกฝ่ายอาจอ้างได้ว่าไม่มีการตกลงแก้ไข

——————————————————————-

โดย รุ่งโรจน์ รื่นเริงวงศ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

(บทความนี้คัดลอกจากหนังสือรวมบทความการไกล่เกลี่ยและการประนอมข้อพิพาทและความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จัดพิมพ์โดยสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม)